รองปลัดกระทรวง อว. เผยปลดล็อกข้อจำกัดการศึกษาหลายด้าน

รองปลัดกระทรวง อว. เผยปลดล็อกข้อจำกัดการศึกษาหลายด้าน

ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ปฏิรูปอุดมศึกษาเพื่อไทยก้าวไปข้างหน้าไม่หยุดยั้ง” ที่จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่าภารกิจของกระทรวง อว. มี 2 เรื่องคือ 1.การพัฒนากำลังคน 2.การสร้างความเป็นเลิศ ซึ่งทั้งสองอย่างเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการควบคู่กัน เพื่อสร้างความเป็นเลิศให้กับประเทศ

โดยสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในกำกับการดูแลของกระทรวง อว. ทั้งรัฐและเอกชนมีประมาณ 150 มหาวิทยาลัย ซึ่งบทบาทของแต่ละมหาวิทยาลัยคือ การพัฒนาบัณฑิต แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าการผลิตบัณฑิตอย่างเดียวไม่อาจเพียงพอ อุดมศึกษาต้องซัพพอร์ตเรื่อง “Life long learning” หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้คนด้วย นั่นหมายความว่ามหาวิทยาลัยจะไม่ใช่แค่สถานที่ของนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่มีอายุระหว่าง 18-22 ปี เหมือนเดิม แต่จะเป็นสถานที่ของคนทุกช่วงวัยมากขึ้น

“การพัฒนากำลังคน เราต้องพัฒนาให้คนมีประสิทธิภาพ สามารถตอบรับกับดิสรัปชั่น ที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตอบสนองความสามารถในการแข่งขันเรื่องคุณภาพชีวิต แต่จุดสำคัญที่ถือเป็นคานงัดคือ การที่เราจะสร้างบัณฑิต หรือพัฒนากำลังคนนั้น ต้องทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน และชุมชน อย่างใกล้ชิด

“เพราะหากย้อนไปสมัยก่อนเราอาจใช้โจทย์ที่ว่า อาจารย์เรียนแบบไหนมาก็เอาความรู้ที่เคยเรียนมาสอนนักศึกษาต่อ หรือมหาวิทยาลัยอยากสอนอะไรก็สอน แต่ต่อจากนี้หลักสูตรต้องเกิดจากการสร้างร่วมกันจากทุก ๆ หน่วยงาน”

ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัยกล่าวต่อว่า ในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา อว.พยายามออกแบบกลไกเพื่อให้ตอบโจทย์ปรัชญาอุดมศึกษาในการพัฒนากำลังคน โดยเรามีเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรใหม่ ปี 2565 ที่เพิ่งประกาศใช้ไปเมื่อวัน 27 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา

คือทำอย่างไรจะให้หลักสูตรที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย เป็นหลักสูตรที่ถูกสร้างร่วมกันระหว่างภาคเอกชน เข้าไปอยู่ในหลักสูตรมากยิ่งขึ้น และเป็นการพัฒนาคนที่ตอบโจทย์สิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

“เราก็ให้อำนาจกับสภามหาวิทยาลัย พิจารณาให้องค์กร หรือภาคเอกชนต่าง ๆ เข้ามาร่วมผลิตบัณฑิต ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบหลักสูตร หรือส่งบุคลากรในองค์กรเข้ามาเป็นอาจารย์สอนก็ได้ ซึ่งเกณฑ์เก่าผู้ที่จะเข้ามาเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยได้ต้องผ่านคุณสมบัติทางวิชาการหลายข้อ จึงทำให้บุคคลภายนอก หรือผู้เชี่ยวชาญเข้ามาสอนในมหาวิทยาลัยได้ยาก แต่เกณฑ์ใหม่ถ้าไม่ได้มีคุณสมบัติทางวิชาการ แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ สามารถเข้ามาสอนได้แล้ว

“นี่คือโจทย์ที่เราพยายามดำเนินการเพื่อทำให้ทุกอย่างมันง่ายขึ้น เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีโอกาสสร้างหลักสูตรร่วมกับภาคเอกชนมากขึ้น ทำอะไรที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ทราบว่าหลายมหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการอยู่

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัยเผยว่า ความฝันบนเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรใหม่ และเป็นนโยบายของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. คือ เมื่อเรามีความร่วมมือกับเอกชนมากขึ้น มีโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ แล้ว ก็จะสามารถต่อยอดได้อีกเยอะมาก เช่น อาจมีการตั้งวิทยาลัยที่เป็นชื่อของภาคเอกชน อยู่ในเขตมหาวิทยาลัย (collaboration college) เหมือนอย่างต่างประเทศ ก็จะเป็นการเปลี่ยนมิติในการพัฒนากำลังคน แต่ทั้งนั้นก็เข้าใจ จะทำได้ก็ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก เราอาจต้องเริ่มจากการผลักดันให้เกิดความร่วมมือ ร่วมสร้างหลักสูตรไปก่อน

อว. เผยปลดล็อกข้อจำกัดการศึกษาหลายด้าน

อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญคือ ระบบคลังหน่วยกิต (credit bank) เพื่อรองรับสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะอย่างที่กล่าวไปเบื้องต้น เราอยากให้มหาวิทยาลัยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย ซึ่งระบบนี้จะมาจากหลากหลายทางได้แก่

1.มหาวิทยาลัยคือ มหาวิทยาลัยต้องมีระบบคลังหน่วยกิต มีวิชาที่เปิดให้คนเข้ามาเรียนเพื่อสะสมหน่วยกิตได้ เช่น เด็ก ม.3 อยากเรียนเขียนโปรแกรมโค้ดดิ้งในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เมื่อเรียนผ่านแล้ว หน่วยกิตวิชานั้นก็จะถูกเก็บในระบบคลังหน่วยกิตของมหาวิทยาลัยที่เรียน

2.หลักสูตรเทรนนิ่งจากสถาบันต่าง ๆ ที่ได้รับการรับรองจาก อว. แต่ฝากไว้ที่มหาวิทยาลัยใดมหาวิทยาลัยหนึ่ง ก็คือสถาบันนั้นทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย

3.ประสบการณ์การทำงาน ทุกคนสามารถเอาประสบการณ์การทำงานมาเป็นเครดิตตนเองได้

“พอเรียนสะสมหน่วยกิตแล้ว ก็สามารถนำเอาหน่วยกิตเป็นเครดิตมาขอใบปริญญาได้ แต่ต้องเป็นไปตามระเบียบของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ว่าปริญญาที่จะรับต้องตอบโจทย์ด้านใดบ้าง ถึงจะขอได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับประกาศมหาวิทยาลัย แต่เราไม่ได้อยากให้โฟกัสแค่ว่าเรียนแล้วต้องเอามาเบิกใบปริญญาเท่านั้น เพราะมันมีความซับซ้อน อีกทั้งเรายังพูดกันเสมอว่า ใบปริญญาไม่จำเป็นอีกแล้ว บางคนไปเรียนหลักสูตรที่ตลาดกำลังขาดแคลน แล้วเรียนในหลายมหาวิทยาลัยจนมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี ก็สามารถนำเอาเครดิตตรงนี้ไปสมัครงานได้ มันก็จะตอบโจทย์โลกการทำงานอนาคต”

“เราพูดกันเสมอว่าปริญญาอาจไม่ใช่คำตอบ สิ่งที่เราต้องทำคือสกิลของผู้เรียนต้องเป็นคำตอบ ดังนั้น แล้วระบบคลังหน่วยกิตที่เราประกาศใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 จะครอบคลุมเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด แต่เชิงเทคนิค ต้องทำงานกันอีกสักระยะหนึ่ง เพราะต้องมีข้อมูลฮาร์ดแวร์ถึงจะทำให้ระบบนี้ประสบความสำเร็จ ตอนนี้ก็เริ่มใช้แล้วในบางมหาวิทยาลัย แต่หลายมหาวิทยาลัยก็ยังไม่ได้ใช้ จึงต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบนี้ คาดว่าภายใน 6-7 เดือน หรือในอีก 1 ปีทุกมหาวิทยาลัยต้องมีระบบคลังหน่วยกิต เราจะพยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้สำเร็จ”

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัยกล่าวอีกว่า บนเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรใหม่จะไม่จำกัดการจบการศึกษาแบบเดิมคือ 4 ปี และห้ามเกิน 8 ปี เรายกเกณฑ์กลางออกทั้งหมด นักศึกษาสามารถเรียนจบปริญญาตรีได้ใน 2 ปี แต่ต้องได้มาตรฐานตามมาตรฐานอุดมศึกษา หรือมหาวิทยาลัยจะดีไซน์หลักสูตรเรียนเกิน 8 ปีก็ได้ หรือให้เด็กเรียน 1 ปี ฝึกประสบการณ์ทำงาน 5 ปี กับสถานประกอบการจริง ก็ทำได้เช่นกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการบูรณาการหลักสูตรของสภามหาวิทยาลัยนั้น ๆ นับเป็นการพลิกโฉมอุดมศึกษาไทยที่เรากำลังเดินหน้าขณะนี้

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ odpavilionsocialshagclub.com

UFA Slot

Releated